GPS คืออะไร จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีติดรถไว้
GPS หรือ Navigator หรือ ระบบแผนที่นำทาง ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงเป็นของเกินจำเป็นและอาจมีบางคนที่ถามว่า มันคืออะไร แต่ในปัจจุบัน ผู้ขับขี่รถเริ่มรู้จักและหันมาใช้งานกันเพิ่มขึ้น และเรียกกันจนคุ้นว่า GPS และเป็นชื่อที่ติดปาก คุ้นหู จนลืมไปว่า ภาษาไทยเราเรียกมันว่าอะไร แต่ก็เข้าใจถึงหน้าที่ของมันว่า ช่วยคนขับในการเดินทางไปในที่ที่ไม่รู้จักเส้นทางมาก่อน
แต่ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ตัวนี้จริงๆ เชื่อว่ามีผู้ขับขี่รถยนต์อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้มีความรู้จริงๆ และยิ่งมีการขายแข่งกันจากบริษัทผู้ผลิตที่ต้องมีการโฆษณามาเสริมด้วยแล้ว สุดท้าย แทบไม่รู้ว่า อันไหนคุณภาพและประโยชน์จริงๆ อันไหนเป็นเพียงโฆษณาเพื่อชักชวนให้ผู้ขับขี่เลือกซื้อใช้เท่านั้น มาทำความรู้จัก GPS คืออะไร กันดีกว่า
GPS คืออะไร ของเล่น หรือ จำเป็น
ก่อนอื่นคงต้องมาดูนิยามกันก่อนว่า GPS คืออะไร GPS นั้น เป็นคำย่อของคำว่า Global Positioning System เป็นระบบนำทาง ที่อาศัยการระบุพิกัดตำแหน่งต่างๆ ที่อยู่บนโลกจากสัญญาณดาวเทียม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากระบบ Global Navigation Satellite System หรือดาวเทียมสำรวจซึ่งโคจรอยู่รอบโลก คือ ผลพวงจากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีทันสมัยนั่นเอง
GPS เกิดขึ้นได้อย่างไร
ในเรื่องของประวัติจุดกำเนิดของ GPS นั้น เริ่มต้นอย่างบังเอิญ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกาได้ติดตามการทำงานของดาวเทียมสปุตนิก ดาวเทียมสัญชาติโซเวียต ในปี ค.ศ. 1957 แล้วพบว่า มีการสะท้อนกลับของคลื่นไมโครเวฟ ระหว่างดาวเทียมและพื้นผิวโลก ซึ่งทำให้สามารถระบุตำแหน่งของดาวเทียมบนอวกาศได้เมื่อรู้ตำแหน่งบนพื้นโลก ในทางกลับกัน ย่อมรู้ตำแหน่งต่างๆ บนพื้นโลกได้เมื่อมีการโคจรผ่านตำแหน่งนั้นๆ จากจุดนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์นำความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาต่อ จนได้เป็นระบบนำทาง และเรียกชื่อย่อว่า GPS ในครั้งแรกมีการนำไปทดลองใช้เพื่อการนำทางเรือรบของกองทัพเรืออเมริกา เมื่อได้ผลและพัฒนามากขึ้น จึงนำมาใช้ทั่วไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น จนถึงปัจจุบันนี้ที่นำมาใช้กับการเดินทางโดยรถยนต์
GPS ทำงานอย่างไร
ระบบการทำงานของเครื่อง GPS นั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนของตัวอุปกรณ์ที่เรียกว่า ฮาร์ดแวร์ หรือตัวเครื่อง และส่วนของซอฟแวร์ หรือระบบปฏิบัติการ อันนี้ไม่ต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ สิ่งที่อาจมีความต่างคือ ตัวเครื่อง GPS ทำหน้าที่เป็นเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม ส่วนซอฟแวร์หรือระบบปฏิบัติการ ทำหน้าที่แสดงผล เมื่อเราเปิดเครื่องให้ GPS ทำงาน มันจะช่วยบอกตำแหน่งของสถานที่ระหว่างการเดินทางเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางที่เรากำหนดให้เครื่องนำทางไว้ ส่วนการทำงานโดยละเอียดนั้น แต่ละเครื่องจะมีฟังก์ชั่นการทำงานยาก-ง่าย ซับซ้อนแตกต่างกันตามแต่บริษัทผู้ผลิตจะกำหนด
GPS มีประโยชน์อย่างไร
จากการที่ GPS สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่ต่างๆ ได้ถูกต้อง เมื่อผู้ขับขี่ใช้อุปกรณ์นี้เป็นตัวช่วยในการเดินทาง ก็จะทำให้รู้ทิศทางที่จะไปสู่จุดหมายได้ โดยไม่จำเป็นต้องศึกษาเส้นทางมาก่อนแบบเดิมๆ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีทันสมัยมาทดแทนทั้งความรู้และเวลาในการศึกษาเส้นทางก่อนเดินทางเหมือนในอดีต
หาก GPS ก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน เนื่องจากเป็นระบบที่เซ็ตขึ้นและเก็บข้อมูลไว้ในระบบปฏิบัติการ จึงต้องมีการอัพเดทข้อมูลให้ตรงกับความจริงในปัจจุบันที่อาจมีการตัดถนนเส้นใหม่ๆ หรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่
นอกจากนั้น ในปัจจุบัน GPS ยังพัฒนาให้บอกได้ถึงสภาพความแออัดของการจราจรได้ และโดยทฤษฎี GPS ยังช่วยบอกพิกัดของรถกรณีที่ถูกลักขโมย ส่วนในความเป็นจริงจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนคงขึ้นอยู่กับความรอบรู้ของผู้ขโมยด้วยเหมือนกัน เพราะใครจะปล่อยให้ถูกติดตามได้ง่ายๆ หากคิดเป็นมิจฉาชีพ
ฮาร์ดแวร์ของ GPS
ในส่วนของฮาร์ดแวร์ สามารถแบ่ง GPS ออกเป็น 2 แบบ คือ แบบพอร์ตเทเบิ้ล คือ แบบที่พกพาไปไหนมาไหนได้ หรือที่เรียกว่าแบบพีดีเอ (PDA) ซึ่งมีแพร่หลายในตลาดเมืองไทย ชนิดนี้ สามารถใช้งานได้หลากหลายทั้งโทรศัพท์ เก็บข้อมูล เป็นต้น ส่วนอีกชนิดหนึ่งเป็น แบบ 2 DIN ประเภทนี้ติดตั้งสำเร็จในรถ พร้อมระบบมัลติมิเดียครบครัน วิทยุ-ซีดี-ดีวีดี
ซอฟแวร์ ของ GPS
ระบบซอฟแวร์ของ GPS นั้น ก็มีการพัฒนากันอยู่หลายบริษัท ส่วนจะใช้แบบไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับบริษัทฮาร์แวร์จะเลือกใช้
สำหรับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ เมื่อซื้อไปใช้แล้ว จะต้องมีการอัพเดตข้อมูลแผนที่ใหม่ๆ ด้วย ยิ่งกรณีการจราจรในประเทศไทยโดยเฉพาะในเมืองหลวงที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการสร้างเพิ่ม ต่อเติมเส้นทางการจราจรใหม่ๆ การอัพเดทข้อมูลแผนที่นั้น ทางบริษัทผู้ผลิตซอฟแวร์อาจมีทั้งที่บริการอัพเดทฟรีหรือเสียค่าบริการบ้างก็มี ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างกันของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อ ต้องศึกษาเงื่อนไขเหล่านี้ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้ายี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งด้วย
อุปกรณ์ GPS มีจำเป็นหรือไม่
คำถามนี้คงมีคำตอบที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์ของผู้ขับขี่รถยนต์โดยตรง เพราะในการขับรถยนต์นั้น ภารกิจสำคัญในการเดินทางของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางครั้งใช้เส้นทางเฉพาะที่คุ้นเคยและไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปในสถานที่แปลกถิ่นเลย แต่กับบางคนกลับต้องเดินทางไปแต่ในสถานที่ที่ไม่ซ้ำเส้นทางเลยและเดินทางบ่อยมาก ระยะเวลาที่จะต้องเตรียมตัวในการเดินทางของแต่ละคนก็แตกต่างกันอีก บางคนมีเวลาสำหรับศึกษาเส้นทางให้ทะลุปรุโปร่งก่อนออกเดินทาง แต่กับบางคนไม่มีเวลาตรงนั้น ฉะนั้น ความจำเป็นของ GPS จึงไม่เท่ากันในแต่ละคน
อีกทั้งเงื่อนไขความทันสมัย ข้อมูลเส้นทางที่อยู่ในซอฟแวร์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนขับต้องตัดสินใจ เพราะบางครั้ง ความคุ้นชินเก่าๆ การศึกษาเส้นทางลัดจากปากของผู้ชำนาญเส้นทางอาจได้ประโยชน์ในการเดินทางได้เร็วกว่า การใช้ GPS ก็เป็นไปได้ เพราะบางครั้ง การเดินทางตามที่ GPS ชี้นำทางให้ อาจไม่ใช่ทางที่สะดวกและรวดเร็วเสมอไป เนื่องจากในเมืองไทย พื้นที่ ผิวการจราจรและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้บ่อยมาก
GPS มีราคาพอประมาณ การตัดสินใจจะซื้อมาใช้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับความจำเป็นของผู้ใช้ การได้ทดลองใช้ด้วยตัวเอง จะบอกว่า เงินที่จ่ายไปคุ้มกับประโยชน์ที่ได้มาหรือไม่ และหากไปสอบถามจากผู้ใช้หลายๆ คนก็คงได้รับคำตอบที่แตกต่าง
ที่สุดแล้ว GPS จำเป็นสำหรับบางคน ไม่จำเป็นสำหรับบางคน น่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย