โช้คอัพรถยนต์ – ปัญหาโช้คอัพรถยนต์และแนวทางแก้ไข
โช้คอัพรถยนต์มีประโยชน์ตรงที่ช่วยในเรื่องการทรงตัวของรถ และลดการกระแทกขณะขับ ถ้าหากรถมีปัญหาเรื่องโช้คอัพ ไม่ว่าจะเสียหรือเสื่อม ก็มีปัญหาในการขับทั้งสิ้น กรณีที่เกิดปัญหาเรื่องโช้คอัพขึ้นมา เราจะทราบได้ก็จากการทรงตัวที่ผิดปกติจากเดิมของรถ เพราะหน้าที่หลักๆ เลยของโช้คอัพรถ ก็คือ หยุดการเต้นของคอยล์สปริง โดยการใช้แรงต้านของน้ำมันที่ไหลผ่านช่องทางลูกสูบภายในกระบอกโช้ค
ส่วนอาการเสื่อมของโช้คอัพรถยนต์นั้น ส่วนมากมักเกิดจากการเสื่อมของน้ำมันไฮโดรลิคภายในกระบอกสูบ ถ้าน้ำมันดังกล่าวหมดประสิทธิภาพ จะลดความหนืดลง หรือเกิดการรั่วซึมของตัวโช้คอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุก็มีเหมือนกัน
จะรู้ได้อย่างไรว่าโช้คอัพรถยนต์ เสียหรือมีปัญหา
ถ้าโช้คอัพรถยนต์ปกติ ตัวรถจะมีความยืดหยุ่น เด้งสปริง ดังนั้นหากลองกดด้านหน้ารถแรงๆ แล้วปล่อย ถ้าพบว่าตัวรถมีการเด้งขึ้นๆ ลงๆ หลายครั้ง นั่นแสดงว่า โช้คอัพรถยนต์เริ่มเสื่อมสภาพแล้ว เพราะถ้าโช้คอัพรถยนต์ยังดีอยู่ เมื่อออกแรงกดจะยุบตัว พอปล่อยก็จะคืนตัวเป็นปกติโดยทันที จะไม่มีการเด้งขึ้นๆ ลงๆ หลายครั้ง นอกเหนือจากการเช็คโดยการดูการสปริงตัวของรถแล้ว ยังสามารถเช็คจากเรื่องอื่นได้ ดังนี้
- ตรวจรอยรั่วของน้ำมันบริเวณซีลของโช้คอัพ ถ้าโช้คเสื่อมก็มักจะมีรอยรั่วซึม ซึ่งจะพบเป็นคราบน้ำมันเลอะๆ บริเวณแกนโช้คอัพให้เราเห็น ( หรือหากตรวจเช็คไม่เป็นก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิธีเช็คโช้คอัพรถยนต์ )
- อาการผิดปกติที่ตัวโช้คอัพแบบเห็นได้ชัด เช่น แกนโช้คมีรูปผิดแปลกจากเดิม คือ คดงอ บิดเบี้ยว หรือ มีรอยบุบผิดรูปทรง
- ดูจากดอกยางก็สามารถอนุมานความเสื่อมของโช้คอัพได้ ถ้าโช้ครถยนต์ไม่ดี การสึกของหน้ายางจะสึกเป็นบั้งๆ ไม่เรียบเสมอกัน ซึ่งถ้าเอามือลูบหน้ายางด้าน จะพบว่า หน้าหนึ่งเรียบ แต่พอลูบย้อนกลับจะสะดุดมือ เพราะมันไม่เรียบ
- นอกจากนั้นยังสามารถทดสอบสภาพโช้คอัพได้ด้วยการสัมผัสหลังใช้งาน โดยหลังใช้งาน เมื่อจอดรถแล้ว ให้เอามือเรานี่แหละสอดเข้าไปสัมผัสกับกระบอกโช้คอัพ เพื่อเช็คสภาพ โช้คอัพที่ยังใช้งานได้ดี จะมีความร้อน แต่ถ้าเช็คแล้วพบว่า อุณหภูมิปกติ ไม่ร้อน นั่นหมายความว่า ตัวโช้คอัพคงไม่ทำงาน เพราะถ้าทำงาน อุณหภูมิจะสูงขึ้น เพราะลักษณะการทำงานของตัวโช้คอัพนั้น จะใช้ความหนืดของน้ำมัน ไปสร้างแรงเสียดทานควบคุมคอยล์สปริง ไม่ให้รถเด้งมาก การทำงานดังกล่าวจะทำให้เกิดความร้อนที่กระบอกโชัคอัพ หลังใช้งานถ้าจับก็สัมผัสความร้อนได้ ไม่ร้อนก็แสดงว่าไม่ได้ทำงาน
- ถ้าโช้คอัพเริ่มเสื่อมสภาพ เราสามารถจับสังเกตได้ว่าขณะเริ่มออกตัวโดยใช้ความเร็วปกติ หน้ารถจะเชิดขึ้น และเวลาเบรกที่ความเร็วต่ำ หน้ารถก็ทิ่มลง
- ขณะขับรถผ่านเส้นทางที่เป็นสันเนิน หรือทางขรุขระไม่เรียบ รถที่โช้คอัพไม่ดีจะออกอาการชัดเจนคือ ตัวรถจะเด้งขึ้นลงหลายครั้ง และเด้งมากด้วย
- รถที่โช้คอัพไม่ดีนั้น เวลาขับด้วยความเร็วสูงสักนิด จะมีอันตรายมาก เพราะรถจะแกว่งเมื่อถูกลมปะทะ ยิ่งขับเร็วมากก็ยิ่งอันตรายมาก อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายถ้าโช้คอัพรถเสื่อมคุณภาพ
- ถ้าขับรถไปตามทางที่เป็นหลุมบ่อ แล้วตกหลุม ตัวรถโยกโยนมากกว่าปกติ นั่นแสดงว่าโช้คอัพคงเสื่อมแล้ว
ซ่อมแซมโช้คอัพหรือเปลี่ยน โช้คอัพรถยนต์ ใหม่ดี
ถ้าพบว่าโช้คอัพรถยนต์เสื่อมคุณภาพ การเปลี่ยนใหม่นั้นย่อมดีกว่าการซ่อมแซมแก้ไขเพื่อประทังไปชั่วคราวอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะแก้ไขเพื่อยืดอายุการใช้งานไม่ได้ จึงขึ้นอยู่กับเจ้าของผู้ใช้รถว่า อยากแก้ไขแบบไหน
- การอัดโช้ค ทำได้โดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันภายในกระบอกโช้คใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนซิลยางฯลฯ
- เปลี่ยนโช้คอัพรถยนต์ใหม่ ถ้าตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนโช้คอัพใหม่ สิ่งที่ต้องสังเกตคือเรื่องของ “หูโช้ค” ต้องเลือกซื้อที่เข้ากันได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิดพลาด เวลาจะซื้อใหม่จึงควรถอดของเดิมไปเปรียบเทียบ ส่วนจะเลือกยี่ห้อไหนนั้น ก็ต้องดูประสิทธิภาพของสินค้า ดูเรื่องช่วงชัก เรื่องระยะการยืดการยุบของตัวโช้คอัพด้วย
การเลือกใช้โช้คอัพนั้น ต้องเลือกที่กระบอกพอดีๆ ไม่เล็กไป ไม่ใหญ่ไป ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาขณะใช้งาน เช่นมีการเสียดสีหรือกระทบกระแทก ทำให้ใช้งานได้ไม่สมบูรณ์รวมถึงมีปัญหาชำรุดก่อนหมดอายุอีก โดยเฉพาะหากรถที่ใช้เป็นรถกระบะ เพราะรถกระบะส่วนใหญ่ใช้ช่วงล่างแบบปีกนกคู่ โช้คอัพมักจะเสียบอยู่ระหว่างกลางปีกนกบน ถ้าเลือกโช้คอัพที่กระบอกใหญ่เกินพอดี เวลาที่ปีกนกเคลื่อนที่ โช้คอัพจะเสียดสีหรือกระทบกระแทกกับปีกนก
รถที่ใช้จะรับแรงกระแทก กระเทือน หรือนั่งสบาย ตกหลุมบ่อก็ไม่หัวสั่นหัวคลอน เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับโช้คอัพรถยนต์ ดังนั้น โช้คอัพรถจึงเป็นเรื่องที่ผู้ใช้รถต้องดูแลเอาใจใส่อย่างดีอีกอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากความไม่สบายขณะขับแล้ว ถ้าโช้คอัพไม่ดียังมีผลให้ช่วงล่างของรถเกิดความเสียหายได้ง่าย ตลอดจนมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำได้ ถ้าขับด้วยความเร็วสูง แต่ต้องเบรกกระทันหัน เป็นต้น