ขับรถลุยน้ำ เทคนิคและข้อพึงปฏิบัติกรณีต้องขับรถลุยน้ำท่วม
ปัญหาของคนใช้รถที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยต้องเผชิญก็คือ การขับรถในช่วงหน้าฝน เพราะบ้านเรา โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มักเจอกับภาวะ ฝนตกนิดหน่อยก็เกิด “น้ำท่วมขัง” ตามถนนเสียแล้ว เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน แม้ทางการจะบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า “น้ำรอการระบาย” ก็เถอะ แต่สภาวะก็คือ บนถนนที่ต้องขับรถไป เจิ่งนองไปด้วยน้ำ บางครั้งสูงขึ้นมามากกว่าข้อเท้า ประมาณครึ่งเข่าก็มี ในฐานะที่มีโอกาสที่ต้องเจอการขับรถไปบนถนนที่น้ำท่วมขังมีสูง การศึกษาหาเทคนิคทั้งในการหลีกเลี่ยงเส้นทาง และที่สุดถ้าเลี่ยงไม่ได้ ลุยเป็นลุย ก็ต้องลุยแบบมีเทคนิคบ้าง เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์พังเพราะน้ำ มาดูข้อควรปฏิบัติที่ควรเตรียมตัวไว้ดีกว่า
ข้อควรปฎิบัติเมื่อต้องขับรถบนถนนที่มีน้ำท่วมขัง
หากทราบว่าถนนที่ใช้เดินทางประจำมีน้ำท่วมขังสูงและมีแนวโน้มว่า รถอาจเสียหายได้หากขับลุยไป แต่มีเส้นทางอื่นที่สามารถใช้แทนได้ ควรเลี่ยงไปเส้นทางอื่นมากกว่า แม้ว่าจะต้องขับอ้อมไกลมากขึ้นก็ตาม เพราะไม่คุ้มแน่หากต้องซ่อมรถที่น้ำเข้าเครื่องยนต์ แต่หากอยู่ในภาวะจำเป็น เพราะไม่ทราบมาก่อน ก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป ดังขั้นตอนต่อไปนี้
- คาดการณ์ความสูงของระดับน้ำ ในเบื้องต้น คงดูง่ายๆ จากรถคันหน้าที่ลุยไปก่อนรถเรา ถ้ากะระดับน้ำแล้ว สูงกว่า 25 เซนติเมตร ถ้าเป็นรถเก๋งควรเลี่ยง ถ้าเป็นรถกะบะอาจพอลุยได้ถึงระดับ 40 เซนติเมตร แต่ถ้ารถคุณสูงกว่านั้น อาจลุยได้ระดับสูงขึ้นไป ยุคนี้ดีหน่อยในเรื่องของการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รายการวิทยุหลายรายการเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อข่าวคราวการจราจรจากผู้ใช้รถใช้ถนนซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีการเตือนกันผ่านการออกอากาศสด ผู้ใช้รถควรรับฟังเพื่อให้ทันสถานการณ์และแก้ไขปัญหาโดยการเลี่ยงถนนที่มีน้ำท่วมดีที่สุด แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่สุดแล้ว ถ้าน้ำท่วมขนาดจะทำให้รถเสียหายก็ไม่คุ้ม
- ปิดแอร์รถยนต์ ถ้าถึงจุดที่ตัดสินใจแล้วว่า ต้องขับรถผ่านน้ำท่วมขังไป และประเมินแล้วว่าระดับน้ำยังพอขับผ่านไปได้แล้ว สิ่งที่พึงทำต่อไปก็คือ การปิดแอร์รถ ไม่ให้พัดลมแอร์ทำงาน เนื่องจากพัดลมแอร์หน้ารถ จะไปพัดเอาละอองน้ำให้กระจายไปทั่วห้องเครื่องยนต์ จะทำให้เครื่องยนต์รถมีโอกาสดับสูง
- ห้ามเร่งเครื่องยนต์ขณะขับผ่านน้ำท่วม เรื่องนี้ต้องเข้าใจข้อเท็จจริง เพราะมีหลายคนเข้าใจผิดว่า การเร่งเครื่องนั้นทำไปเพื่อดันน้ำออกจากท่อไอเสีย ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะในความเป็นจริง ยิ่งเราเร่งเครื่อง ยิ่งจะทำให้เครื่งยนต์ร้อน และทำให้พัดลมระบายความร้อนของเครื่องยนต์ทำงาน ไปพัดน้ำให้เกิดเป็นคลื่นสะท้อนกลับมาหาเครื่องยนต์
- ขับรถช้าๆใจเย็นๆ การขับไปช้าๆ แต่สม่ำเสมอ จะช่วยประคองให้รถสามารถขับผ่านน้ำท่วมขังไปได้อย่างปลอดภัย ทั้งแก่ตัวรถเองและเพื่อนร่วมใช้รถใช้ถนน สำหรับความเร็วที่ใช้นั้น ไม่ควรเกิน 1500 รอบ/นาที หากรถที่ใช้เป็นเกียร์ธรรมดา ไม่ควรใช้เกินเกียร์ 2 ถ้าเป็นเกียร์ออโต้ควรใช้ L ในการขับเคลื่อน
ข้อควรปฏิบัติและการดูแลรถหลังขับลุยน้ำท่วม
- เบรกรถย้ำๆ เพื่อขับไล่ความชื้นในกลไกระบบเบรก ถ้าเป็นรถเกียร์ธรรมดา เพิ่มการเหยียบคลัตช์ย้ำๆ เพื่อป้องกันคลัตช์ลื่น
- ไม่ดับเครื่องยนต์ในทันที เนื่องจากรถที่ผ่านการขับลุยน้ำท่วมมาจะมีความชื้นในห้องเครื่องยนต์มากกว่าปกติ ควรติดเครื่องยนต์ไว้สักพักเพื่อขับไล่ความชื้นในห้องเครื่องยนต์ รวมถึงไล่น้ำออกจากหม้อพักไอเสียออกไปให้หมดก่อน
- หลังจากนั้น วันหรือสองวัน ถ้าพบว่าเบรกเกิดอาการติดขัด ให้แก้โดยการสตาร์ทเครื่องยนต์แล้วขับเดินหน้าพร้อมเหยียบเบรกแรงๆ 1ครั้ง ขับถอยหลังแล้วเหยียบเบรกแรงๆ 1 ครั้ง ทำแบบนี้สลับหน้าหลังไปมา จนกว่าเบรกจะหายติดขัด แต่ถ้าทำแล้วก็ยังมีอาการติดขัด ก็ควรนำรถเข้าอู่ให้ช่างเช็คและแก้ไขจะดีกว่า
การขับรถลุยน้ำท่วมนั้น ถ้าไม่รู้ล่วงหน้า ก็ต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าไป แต่บางครั้งก็พอมีเค้าลางให้เราสามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้อยู่บ้าง เช่น ฝนตกหนักติดต่อกัน มีข่าวว่า น้ำเริ่มท่วมขัง แต่เราก็มีความจำเป็นต้องเข้าไปในสถานที่เหล่านั้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นละก็ สิ่งที่ควรทำเพื่อให้มีความพร้อมที่จะลุยน้ำท่วมก็คือ
- เติมน้ำมันให้เต็มถัง มีประโยชน์คือ แรงดันจากน้ำมันจะป้องกันไม่ให้เกิดไอน้ำภายในถังน้ำมันได้
2. เช็คสภาพรถให้ดี โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบจ่ายไฟ ไม่ว่าจะเป็นคอล์ย สายไฟ จานจ่าย และปลั๊กหัวเทียน ควรใช้สเปรย์กันความชื้นฉีดป้องกันไว้ก่อน และมีสเปรย์ติดรถเอาไว้ เพื่อจำเป็นระหว่างทาง