รถติดแก๊ส NGV ทำงานอย่างไร และ ประกอบด้วยอุปกรณ์อะไรบ้าง

0
16925
รถติดแก๊ส NGV มีอุปกรณ์อะไรบ้าง ติดแก๊ส NGV ทำงานอย่างไร อยากรู้ต้องอ่าน

รู้จักการทำงานของรถติดแก๊ส ให้ดีก่อนตัดสินใจ


รถติดแก๊ส NGV เป็นอย่างไร มีอุปกรณ์ และการทำงานอย่างไร รู้จักเอาไว้ เพื่อตรวจเช็คและแก้ไขความผิดปกติได้ด้วยตัวเอง กรณีมีความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องที่ดี ไม่แตกต่างจากขับรถได้ ดูแลรถเป็น ก็มีชัย ไม่ต้องให้ช่างที่ไหนมาหลอกให้กลัว หรือเสียเงินโดยใช่เหตุ


ก่อนอื่น ทำความรู้จักแก๊สธรรมชาติแต่ละอย่างกันก่อน (Natural Gas หรือย่อว่า NG)

  • NGV ( Natural Gas for Vehicle) ก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ในยานพาหนะ
  • CNG (Compressed Natural Gas) ก๊าซธรรมชาติที่อัดแรงดัน LNG ( Liquefied Natural Gas) ก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้กลายเป็นของเหลว เรามักจะคุ้นกับคำว่าแก๊สเหลว
    (จริงๆแล้ว CNG กับ NGV ใช้ก๊าซประเภทเดียวกัน เป็นแค่คำเรียกเฉยๆ โดยในเมืองไทยนิยมเรียก NGV แต่ในต่างประเทศไม่มี NGV นะ เขาเรียกว่า CNG กัน)
  • ส่วน LPG (Liquefied Petroleum Gas) คือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้ม เป็นก๊าซธรรมชาติที่มีก๊าซโพรเพน และก๊าซบิวเทน เป็นองค์ประกอบหลัก นิยมนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม เพราะให้ค่าความร้อนสูง ก่อนนำไปใช้จะถูกอัดด้วยความดันให้เป็นของเหลว บรรจุในถังทนแรงดัน สะดวกแก่การขนส่ง และมีการนำก๊าซ LPG ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์แทนน้ำมันเบนซิน แต่ด้วยคุณสมบัติที่หนักกว่าอากาศ ทำให้เมื่อเกิดรั่วไหลจะกระจายอยู่ตามพื้นราบ และติดไฟได้ง่ายจึงมีความปลอดภัยน้อยกว่าการใช้ก๊าซ NGV ในรถยนต์

อนึ่ง คำว่า GAS นั้น บางคนก็เรียก แก๊ส บางคนก็เรียกก๊าซ ให้เข้าใจว่าคือตัวเดียวกัน


เมื่อรู้จักแก๊สชนิดต่างๆ แล้ว มาทำความรู้จักกับอุปกรณ์ โดยทั่วไปแล้วอุปกรณ์ของระบบหัวฉีดของ รถติดแก๊ส NGV ก็คล้ายๆ กับของรถที่ติดแก๊ส LPG อาจมีพิเศษบ้างเล็กน้อย ถ้าทำความรู้จักกับมันอย่างดีก็จะมองว่า ก็คล้ายๆ กัน
อุปกรณ์และการทำงานของ รถติดแก๊ส NGV


  1. กล่อง ECU (Electronic Control Unit) กล่องนี้เป็นตัวควบคุมการทำงานของหัวฉีดแก๊ส และสั่งการหัวฉีดแก๊สให้ทำงานเมื่อได้รับสัญญาณจาก Sensor เดิมของเครื่องยนต์ ซึ่งทำงานโดยการส่งสัญญาณไปยัง Emulator หรือหัวฉีด รวมทั้งควบคุมการทำงานของ Solenoid หม้อต้ม กับ Solenoid High Pressure และส่งสัญญาณไปยังสวิทช์แก๊ส ซึ่งจะแสดงสถานะโดยเห็นสัญญาณไฟเป็นหลัก

  2. Emulator คอยรับสัญญาณคำสั่งจาก ECU เมื่อรับคำสั่งมาแล้วก็จะทำการควบคุมการตัด-ต่อหัวฉีดน้ำมัน เช่น ถ้าเจ้าของรถมีการปรับมาใช้แก๊สแทนน้ำมัน เจ้าตัวนี้ก็จะทำการตัดการทำงานของหัวฉีดน้ำมันโดยอัตโนมัติ
    ลักษณะของการทำงานก็คือ เมื่อ Emulator รับสัญญาณไฟบวก (ขั้วลบของหัวฉีด) มาแล้ว จะนำสัญญาณไปลง Ground ที่ ECU ของเครื่องยนต์ แต่ปัจจุบันเรามักพบว่า ECU แก๊สจะมี Emulator อยู่ในตัว ก็จะนำสัญญาณดังกล่าวไปประมวลผล เพื่อควบคุมหัวฉีดแก๊สต่อไปในทันที
    โดยปกติ Emulator จะมีปลั๊กสำหรับต่อสายไฟไปยังอุปกรณ์ 2 สาย คือ 1. เป็นสายที่ต่อเข้ากับหัวฉีดน้ำมัน และ ECU ของเครื่องยนต์ และ 2. เป็นสายไฟที่ต่อเข้ากับ ECU แก๊ส


  3. High Pressure Solenoid หรือโชลินอยด์แก๊สแรงดันสูง ทำหน้าที่ควบคุมการเปิด-ปิดแก๊สในท่อแรงดันสูงก่อนที่จะเข้าสู่หม้อต้ม
    Solenoid จะเริ่มทำงานเมื่อได้รับสัญญาณไฟบวกจาก ECU แก๊ส และ Solenoid High Pressure จะมีสายไฟ 2 เส้น คือ 1. ไฟบวก เป็นเส้นที่ต่อเข้ากับ ECU แก๊ส 2. ไฟลบ สายไฟเส้นนี้เป็นเส้นที่ต่อลงดิน


  4. Switch Gas อุปกรณ์ชิ้นนี้จะคอยรับสัญญาณจาก ECU แก๊ส เพื่อบอกสถานะและปริมาณของน้ำมันหรือแก๊ส โดยแสดงผลออกมาในรูปของไฟ LED สำหรับสายของ Switch Gas มีสายไฟเพียงสายเดียว ที่พ่วงต่อกับตัว ECU แก๊ส

  5. เกจ์วัดแรงดัน มีไว้เพื่อแสดงค่าของแรงดัน (bar) ที่มีอยู่ในท่อแรงดันสูง และส่งสัญญาณไปยัง ECU แก๊ส เพื่อแสดงปริมาณแก๊สที่ Switch Gas ซึ่งจะแสดงเป็นไฟ LED และมักจะต่อสายไฟไปยัง ECU แก๊สเพียงเส้นเดียว

  6. Pressure Sensor มีไว้เพื่อวัดความต่างค่าแรงดัน ระหว่างหัวฉีดกับภายในหม้อต้ม แล้วส่งสัญญาณไปยัง ECU แก๊ส ประโยชน์คือ สามารถควบคุมหม้อต้มให้จ่ายแก๊สออกไปสู่หัวฉีดตามที่เครื่องยนต์ต้องการ

  7. ชุดหัวฉีดแก๊ส คอยทำหน้าที่ฉีดแก๊สเข้าไปผสมกับอากาศในท่อร่วมไอดี โดยที่ ECU แก๊สคอยควบคุมและกำหนดปริมาณในการฉีดแก๊สให้อยู่ในระดับพอดี
    ชุดหัวฉีดแก๊สนี้ ประกอบด้วยตัว Solenoid จำนวนเท่ากับหัวฉีด มีขั้นตอนการทำงานคือ เมื่อมีสัญญาณฟ้าส่งมาจาก ECU แก๊สไปยังชุดหัวฉีดแก๊ส ตัว Solenoid ก็จะทำการเปิดแก๊สให้ผ่านไปยังหัวฉีด โดยจะมีตัว Solenoid ติดอยู่ที่หัวฉีดหัวละ 1 ตัว ดังนั้น สายไฟจึงมีจำนวนคู่เท่ากับจำนวนหัวฉีด


  8. Sensor วัดรอบ อุปกรณ์ตัวนี้จะค่อยทำหน้าที่วัดค่าความเร็วรอบของเครื่องยนต์ แล้วส่งสัญญาณ Pulse ไปยัง ECU แก๊ส เพื่อควบคุมการเปลี่ยนจากน้ำมันเป็นแก๊สอย่างอัตโนมัติ โดยปกติแล้วสัญญาณวัดรอบของเครื่องยนต์ จะสามารถหาได้จากสายวัดรอบของเครื่องยนต์โดยตรง หรือสายไฟจากหัวฉีดก็ได้ ซึ่งเราจะเอาเฉพาะสายสัญญาณที่เป็น Pulse (Output) หรือ Volt ต่อเข้ากับ ECU แก๊ส เพียงเส้นเดียว

  9. TPS (Throttle Position Sensor) เป็นตัววัดค่าตำแหน่งของลิ้นเร่ง แล้วส่งสัญญาณไปยัง ECU แก๊ส ให้รับทราบ ซึ่งตามปกติแล้วเราจะใช้เฉพาะสายที่เป็นสัญญาณ TPS ต่อเข้ากับ ECU Gas เพียงเส้นเดียว

  10. Oxygen Sensor อุปกรณ์ชิ้นนี้คอยวัดปริมาณอ๊อกซิเจนที่ออกมาจากไอเสีย แล้วส่งสัญญาณไปยัง ECU แก๊ส สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการควบคุมเรื่องการเพิ่มหรือลด ส่วนผสมของเชื้อเพลิงกับอากาศ ให้เหมาะกับความต้องการของเครื่องยนต์ การเชื่อมต่อนั้นจะใช้เฉพาะสายเพียงเส้นเดียวที่เป็น Pulse ต่อเข้ากับ ECU แก๊ส

  11. ถัง รถติดแก๊ส NGV เป็นส่วนที่เรามองเห็นจากภายนอก ซึ่งตัวถังแก๊สนี้ก็ยังแบ่งเป็นหลายแบบ มีคุณภาพและราคาต่างกัน ที่นิยมก็มี 4 ประเภท
    1. NGV 1 ทำจากเหล็ก รีดและอัดขึ้นรูปด้วยความร้อน มีน้ำหนักมากแต่มีราคาถูก
    2. NGV 2 ทำจากเหล็กหรืออะลูมิเนียมและไฟเบอร์ มีการเสริมแรงถังด้วยไฟเบอร์พันรอบ ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าถังเหล็ก
    3. NGV 3 ทำจากเหล็กหรืออะลูมิเนียมและไฟเบอร์ มีการเสริมแรงถังด้วยไฟเบอร์พันมิต มีน้ำหนักน้อยกว่าประเภทที่ 2
    4. NGV 4 ทำจากไฟเบอร์ผสม โดยใช้เฉพาะไฟเบอร์รับแรงเพียงอย่างเดียว ประเภทนี้จะได้ถังที่น้ำหนักเบาที่สุด แต่ก็มีราคาสูง

ในเมืองไทยนิยมใช้ถังเหล็ก ซึ่งมีน้ำหนักเยอะ แต่ราคาถูกและดีตรงที่มีขนาดเล็กกว่าถังประเภทอื่น ซึ่งมีการเพิ่มเนื้อถังให้มีความหนาขึ้นเพื่อให้สามารถรับความดันสูงได้


หากคุณจะติดตั้งแก๊สเพื่อใช้ร่วมกับระบบน้ำมัน ต้องเลือกใช้บริการจากผู้ติดตั้งและอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน แต่ทั้งหมดแล้วหากคุณคิดจะใช้ก็ควรหาความรู้เพื่อจะดูแลให้ถูกต้องได้ด้วยตัวเองระดับหนึ่ง ไม่ควรฝากชีวิตของตัวเองไว้กับผู้อื่น 100% เลือกใช้เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ ไม่ใช่เพราะเห็นคนอื่นว่าดีก็เลยตามๆ กันไป