การประกันภัยรถยนต์ ที่ผู้ใช้รถติดแก๊สต้องอ่าน
สำหรับเจ้าของรถยนต์ที่นำรถไปเปลี่ยนเป็นใช้แก๊สแทน แน่นอนว่า วัตถุประสงค์หลักๆ ก็คือ ลดค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงไปได้เยอะ – เยอะมากด้วย แต่ข้อเสียที่ตามมาก็คือ ความเสี่ยง เพราะความไวไฟของแก๊สนั้นมากกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สที่ถูกบรรจุไว้ในที่จำกัด การกระแทกที่อาจทำให้เกิดระเบิด ไฟไหม้ทั้งคัน ก็มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
การประกันภัยคุ้มครองรถที่เสียหายจากการใช้แก๊สหรือไม่ หากเกิดอุบัติเหตุแล้ว จะคุ้มหรือเปล่า เป็นอีกเรื่องที่มีส่วนในการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณทำประกันขณะที่รถยังใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ แต่มีการเปลี่ยนมาใช้แก๊สภายหลัง ข้อนี้พึงระวัง อาจเป็นเหตุทำให้ประกันปฏิเสธที่จะชดใช้ค่าเสียหายให้คุณ ถ้าคุณไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของบริษัทก่อนหน้านี้ ดังนั้น เพื่อปิดช่องโหว่ที่บริษัทประกันภัยอาจบิดพลิ้วปฏิเสธไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คุณ ทั้งที่บางกรณีอยู่ในความรับผิดชอบของเขา แต่อาศัยความไม่รู้ของผู้ทำประกันภัย ยกเหตุการณ์ไม่แจ้งการปรับเปลี่ยนจากรถใช้น้ำมันมาเป็นติดตั้งแก๊ส มาอ้าง แล้วไม่ชดเชย โปรดจำไว้ให้ดีว่า เมื่อคุณติดตั้งการใช้แก๊ส คุณจำเป็นต้องแจ้งเหตุนี้ไปยังบริษัทประกันภัยของคุณด้วย ส่วนว่าเมื่อเกิดรถไฟไหม้ทั้งคันนั้น คุณมีสิทธิได้รับชดเชยอย่างไรบ้าง มาดูกัน
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1, 2, 2+
เงื่อนไขของกรมธรรม์ประเภทนี้ คือ รับผิดชอบทุกกรณี หากคุณทำประกันภัยแบบนี้ก็สบายใจได้ เพราะเขารับผิดชอบ 100% เมื่อเกิดความเสียหายตามวงเงินที่คุณทำประกันอยู่แล้ว ต่อให้เป็นกรณีที่คุณเปลี่ยนมาเป็นรถติดแก๊สแล้วลืมแจ้งบริษัทก็ตาม แต่ก็ต้องเข้าใจธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่งว่า รายได้ของบริษัทประกันจะลดลง หากเขาต้องจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้แก่ลูกค้า ดังนั้น บางครั้ง บางคน บางบริษัท ขอย้ำว่า บางบริษัทเท่านั้น อาจจะมีบ้างที่บิดพลิ้ว หรือหาเหตุไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่คุณ โดยอ้างว่า เพราะคุณไม่แจ้งก่อน เมื่อทำประกันจึงเป็นหน้าที่ของคุณต้องศึกษาข้อแม้ เงื่อนไขให้ดี เพื่อตอบโต้และทวงสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ของคุณเอง ไม่ถูกใครหลอกหรือโกง แต่ดีที่สุดคือปิดช่องโหว่ โดยการแจ้งให้ครบถ้วนดีกว่า ไม่ต้องเป็นเรื่อง เป็นความกับใครให้เสียเวลา
ประกันภัยรถยนต์ 3,3+
แม้ว่าตามกรมธรรม์ประเภทนี้ จะไม่คุ้มครองกรณีรถไฟไหม้ทั้งคัน ไม่ว่ารถคุณจะใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแบบปกติหรือเปลี่ยนเป็นติดแก๊ส แต่เงื่อนไขที่คุณควรทราบก็คือ หากคุณมีการแจ้งการเปลี่ยนแปลงมาเป็นรถติดแก๊สไปยังบริษัทถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว คุณจะได้รับความคุ้มครองตัวถังแก๊สและอุปกรณ์ ดังนั้น หากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น คุณเป็นฝ่ายถูก อุบัติเหตุอันเป็นต้นเรื่องให้คุณเสียหายเกิดจากผู้อื่น ขับรถมาชนรถคุณ เป็นต้น คุณต้องได้รับค่าชดเชยความเสียหายของอุปกรณ์และตัวถังแก๊สตามเงื่อนไขกรมธรรม์
ข้อควรระวังสำหรับรถติดแก๊ส
สาเหตุต่อไปนี้ อาจเป็นเหตุให้บริษัทประกันไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายจากรถติดแก๊สไหม้ทั้งคัน
- หลังติดตั้งแก๊สรถยนต์ คุณไม่ส่งเอกสารให้บริษัทประกัน ตลอดจนไม่แจ้งขนส่งทางบก ต่อให้คุณติดตั้งอย่างได้มาตรฐานก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้บริษัทปฏิเสธความรับผิดชอบ หรืออาศัยความไม่รู้ของคุณปฏิเสธความรับผิดชอบได้
- การติดตั้งถังแก๊สไม่ได้รับมาตรฐานคุณภาพ มอก. เพราะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายได้มากกว่าปกติ ถ้าเป็นเช่นนี้ บริษัทอ้างเพื่อปฏิเสธรับผิดชอบได้อยู่แล้ว
- เงื่อนไขการแจ้งประกันเมื่อติดตั้งแก๊สรถยนต์ LPG หรือ NGV ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องระวัง ต้องทำให้ถูกต้อง ครบถ้วนทุกขั้นตอน เช่น หากคุณแจ้งผ่านตัวแทน นายหน้า ต้องเช็คให้ดีว่า ถูกต้องสมบูรณ์ตามเงื่อนไขหรือไม่ หรือคุณต้องแจ้งไปที่บริษัทประกันโดยตรงจึงจะถือว่าสมบูรณ์ และมีการส่งเอกสารรายการจดทะเบียน ที่ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงประเภทเชื้อเพลิงไปยังบริษัทประกันด้วย
และไม่ว่าจะทำครบถ้วนทุกขั้นตอนที่คิดว่าสมบูรณ์แล้วก็จริง คุณควรเก็บหลักฐานใบเสร็จค่าติดตั้งชุดอุปกรณ์แก๊ส เอาไว้ด้วย เผื่อจำเป็นต้องใช้
รถไฟไหม้ ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดขึ้น
ข้ามเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนไป สิ่งที่คุณอาจป้องกันไม่ให้เกิดกรณีรถไฟไหม้ได้อยู่ที่ตัวคุณเอง เพราะการติดตั้งแก๊สรถยนต์ ก็มีเรื่องบำรุงรักษาโดยเฉพาะเช่นกัน ก่อนอื่นคุณควรเรียนรู้ระบบการทำงานของรถติดแก๊ส มีอะไรเป็นตัวควบคุม ส่งจ่ายเชื้อเพลิงและอุปกรณ์อะไรที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเชื้อเพลิง ดูแลอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดี ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ปลอดภัย และต้องหมั่นตรวจเช็คสม่ำเสมอ บางอย่างต้องบ่อย บางอย่างมีช่วงเวลา ซึ่งรายละเอียดมีดังต่อไปนี้
- ทุก 5,000 – 10,000 กิโลเมตร ควรตรวจเช็ค กล่อง ECU จุดศูนย์รวมที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบการจ่ายเชื้อเพลิง
- ตรวจเช็ค หม้อต้มแก๊ส จุดนี้เป็นหัวใจสำคัญที่จะสูบฉีดเชื้อเพลิงเข้าไปยังระบบหัวฉีดรถยนต์
- ทุก 3 ปี ต้องให้ช่างผู้ชำนาญการเฉพาะตรวจเช็ค หัวฉีดแก๊ส
- ตรวจเช็ค กรองแก๊ส ป้องกันฝุ่น ป้องกันสนิม และควรเปลี่ยนทุก 100,000 กิโลเมตร
- เมื่อครบ 10 ปี ควรเปลี่ยนถังแก๊สใหม่ หรือถ้าตรวจเช็คประจำแล้วเห็นว่า ถังเริ่มชำรุดก็เปลี่ยนได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอหมดอายุ เพราะเสี่ยงเกินไป
- เมื่อใช้รถไปได้ 40,000 กิโลเมตร ให้ช่างตรวจเช็คและตั้งระยะวาล์วใหม่อีกครั้ง
- อีกอย่างที่ต้องตรวจเช็คเสมอคือสายยาง ที่เชื่อมต่อระบบถังแก๊ส ซึ่งทำได้ด้วยตัวเองไม่ยาก เพียงแค่ลูบฟองสบู่หารอยรั่ว
การติดตั้งแก๊ส ผ่านการทดสอบมาแล้วว่าสามารถใช้กับรถยนต์ได้ ไม่เกิดอันตรายง่ายๆ แต่ก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่มีการใช้อุปกรณ์ตลอดจนการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนรู้จักและใช้อย่างถูกวิธี ดูแลบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประมาท ไม่ฝากไว้ที่ช่างอย่างเดียว
ใช้เป็นก็ปลอดภัย เพราะไม่ว่าอะไร แม้จะดีแค่ไหนหากตั้งอยู่ในความประมาท ก็เป็นหนทางแห่งความตายได้ทั้งสิ้น