ติดแก๊สรถยนต์ ติดแก๊สระบบดูด ในรถยนต์ ให้ปลอดภัย
เงื่อนไขการใช้รถติดแก๊ส นอกจากจะมีข้อดีในเรื่องของลดต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังมีข้อปลีกย่อยอย่างอื่นตามมาที่ทำให้คนใช้รถต้องหันกลับมาพิจารณาให้ดีว่า คุ้มค่าสำหรับการเปลี่ยนมา ติดแก๊สรถยนต์ แทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจริงหรือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ระยะทางที่วิ่งได้น้อยลงกว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ระบบเครื่องยนต์ที่มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ออกมาว่า ทำให้เครื่องเสียเร็ว เป็นการได้ที่ไม่ค่อยจะคุ้มกับข้อเสีย แต่ก็นั่นแหละ อยู่ที่การศึกษาหาข้อมูลให้รอบด้วยตัวเองจะดีที่สุดว่าอะไรเหมาะสำหรับรถและรูปแบบการใช้งานรถยนต์ของตัวเอง
สำหรับการติดแก๊สระบบดูดในรถเครื่องยนต์เบนซินนั้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเจ้าของรถที่ยังไม่อยากเลิกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแบบเด็ดขาด จึงเลือกที่จะใช้เป็นระบบสามารถเลือกสลับได้ว่า จะใช้เชื้อเพลิงเป็นน้ำมันเบนซินหรือแก๊ส NGV หรือ LPG ซึ่งแก๊สทั้งสองประเภทนี้ก็มีอุปกรณ์การติดตั้งเฉพาะของตัวเอง
มีข้อน่าสังเกตว่า การติดแก๊สระบบดูดนี้มีทั้งผลิตจากโรงงานโดยตรง ที่บริษัทรถทำออกมาเพื่อตอบสนองให้ตรงความต้องการของผู้ใช้รถ อีกกรณีหนึ่งคือ เป็นการนำรถยนต์เบนซินมาติดตั้งอุปกรณ์ติดแก๊สระบบดูด (Fumigation System) เพิ่มเติม
การติดแก๊สระบบดูดนั้น จะมีอุปกรณ์ผสมแก๊สกับอากาศ (Gas Mixser) ทำหน้าที่ดูดอากาศเข้าไปพร้อมกับแก๊สในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับการเผาไหม้ ซึ่งระบบจะจ่ายส่วนผสมนี้เข้าไปยังเครื่องยนต์ การติดแก๊สระบบดูดนี้ ใช้ได้กับเครื่องยนต์ที่จ่ายน้ำมันเบนซินด้วยคาร์บูเรเตอร์และหัวฉีด
อุปกรณ์หลักของการติดแก๊สระบบดูด
- ถังแก๊ส เน้นที่ความแข็งแรงในการรับความดันของแก๊ส ซึ่งมีให้เลือกหลายแบบ ทั้งที่ทำด้วยเหล็ก อะลูมิเนียมหรือเรซิ่นใยสังเคราะห์ก็ได้ ถังแก๊ส NGV และแก๊ส LPG นั้นมีความต่างกัน เพราะแรงดันแก๊ส NGV มีแรงดันแก๊สสูงกว่าแก๊ส LPG
ตัวถังของแก๊ส NGV จึงต้องการความแข็งแรงมากกว่าเพื่อรองรับแรงดันของแก๊สได้ เช่น ถังเหล็กที่มีขนาดความจุ 70 ลิตร เติมแก๊สได้เพียง 15 กิโลกรัมซึ่งใช้งานได้ประมาณ 150 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ถ้าเป็นถังแก๊ส LPG ขนาดบรรจุแบบเดียวกัน เติมแก๊สได้สูงสุด 60 ลิตร วิ่งได้ประมาณ 500-600 ก.ม.
- เต้ารับเติมแก๊ส สำหรับรับแก๊สเข้าบรรจุในถัง
- หม้อต้ม (Evaporator) หรือ อุปกรณ์ปรับความดันแก๊ส (Pressure Regulator) เป็นอุปกรณ์ที่จะลดความดันแก๊สในถังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสำหรับการใช้งานในเครื่องยนต์ ซึ่งเมื่อลดความดันแก๊สลงแล้ว จะเป็นเหตุให้แก๊สเย็นลงจนอาจจะทำให้เกิดน้ำแข็งเกาะหม้อต้ม จนปิดทางไหลของแก๊สได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องใช้น้ำที่ระบายความร้อนจากเครื่องยนต์มาช่วยละลายน้ำแข็ง เปิดทางไหลของแก๊สให้เป็นไปได้ด้วยดี จากลักษณะการทำงานของอุปกรณ์ตัวนี้ที่มีการเอาน้ำร้อนมาละลายน้ำแข็ง คนทั่วไปจึงเรียกอุปกรณ์ลดความดันนี้ว่า หม้อต้ม
- Timing Advancer เป็นอุปกรณ์ปรับเวลาการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ กล่าวคือ ช่วยปรับจังหวะการจุดระเบิดของหัวเทียนให้เหมาะกับการเผาไหม้แก๊ส ที่ต้องมีอุปกรณ์ตัวนี้ก็เนื่องจากโดยทั่วไป แก๊สจะต้องการเวลาในการเผาไหม้นานกว่าน้ำมันเบนซิน ในการทำให้จุดระเบิดขึ้น จึงต้องมีอุปกรณ์ตัวนี้มาช่วยให้การจุดระเบิดหัวเทียนเร็วขึ้นนั่นเอง
- สวิตช์เลือกชนิดเชื้อเพลิง ทำหน้าที่ตัด/ต่อระบบควบคุมแต่ละเชื้อเพลิงที่ต้องการใช้
ประเภทของการติดแก๊สระบบดูด
แบ่งระบบควบคุมการจ่ายแก๊สได้เป็น 2 ประเภท คือ
- ติดแก๊สระบบดูด แบบวงจรเปิด อุปกรณ์หลักของระบบนี้ มีตามที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1-4 เป็นระบบที่ปริมาณแก๊สที่จ่าย จะเข้าไปผสมกับอากาศที่บริเวณท่อร่วมไอดี โดยอาศัยแรงดูดจากอากาศที่ป้อนเข้าสู่ห้องเผาไหม้
ปริมาณแก๊สที่จ่าย จะขึ้นอยู่กับการปรับตั้งสกรูปรับแก๊สหรือวาล์วจ่ายแก๊สที่ผู้ติดตั้งทำการปรับแต่งจึงทำให้ไม่สามารถควบคุมประสิทธิภาพการเผาไหม้ของแก๊สให้สมบูรณ์ได้ในทุกช่วงการทำงานของเครื่องยนต์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาวะการขับเคลื่อน
การติดแก๊สระบบดูด แบบวงจรเปิดนี้ เหมาะกับรถยนต์รุ่นเก่า เนื่องจากไม่ต้องมีตัว Oxygen Sensor ที่ต้องกังวลเรื่องค่า Error
- ติดแก๊สระบบดูด แบบวงจรปิด จะมีอุปกรณ์หลักๆ เหมือนกันกับระบบเปิด จุดที่แตกต่างคือ มีอุปกรณ์ต่อไปนี้
2.1 ชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ECU)
2.2 ชุดควบคุมการจ่ายแก๊ส ( Actuator)
2.3 ตัวตรวจวัดตำเหน่งปีกฝีเสื้อ ( Throttle Position Sensor)
2.4 ตัวตรวจวัดออกซิเจน (Oxygen Sensor)
ลักษณะการทำงานของระบบแก๊สแบบวงจรปิดนี้ จะควบคุมส่วนผสมแบบใช้อากาศพอดีสำหรับการเผา ทำให้เกิดการเผาไหม้ของแก๊สสมบูรณ์
ปริมาณแก๊สที่จ่ายไปผสมกับอากาศที่บริเวณท่อร่วมไอดีจะถูกควบคุมโดยชุดควบคุมการจ่ายแก๊ส ซึ่ง ECU จะควบคุมการเปิด/ปิดของโซลินอยล์วาล์วอีกทีหนึ่ง
ดังนั้น ปริมาณแก๊สที่จ่ายจะมากหรือน้อยจึงขึ้นอยู่กับปริมาณของออกซิเจนที่เหลือจากการเผาไหม้ในท่อไอเสีย โดยใช้ตัวตรวจวัดออกซิเจนและตำเหน่งการเปิดปิดของปีกฝีเสื้อมาประมวลผลการจ่ายปริมาณแก๊สให้เหมาะกับการทำงานของเครื่องยนต์ตามสภาวะการขับขี่ต่างๆ
ปัญหาหลักๆ ของระบบนี้อยู่ที่ Oxygen Sensor ถ้าอุปกรณ์ตัวนี้สภาพไม่ดีจริง อาจทำให้การตรวจจับคลาดเคลื่อนและเป็นปํญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีรถเก่า
งบประมาณในการติดตั้งแก๊สระบบดูด
ส่วนค่าอุปกรณ์และการติดตั้งนั้น หากเป็นแก๊ส NGV จะแพงกว่าแก๊ส LPG เกือบเท่าตัว คือ ถังแก๊ส NGV ขนาด 70 ลิตร มีต้นทุนการติดตั้งทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 30,000-40,000 บาท ในขณะที่ LPG ขนาดถัง 75 ลิตร จะอยู่ที่ประมาณ 12,000-25,000 บาท