ตั้งศูนย์ถ่วงล้อ ความรู้เรื่องการตั้งมุมศูนย์ล้อรถยนต์
เจ้าของรถที่รู้จักดูแลบำรุงรักษารถยนต์ รู้อยู่แล้วว่า ในเรื่องของการดูแลล้อรถยนต์นั้น เมื่อใช้ไปได้ระยะทางพอสมควร จะต้องมีการเปลี่ยนสลับล้อ เนื่องจากการใช้รถตามปกตินั้น การเสื่อมหรือสึกของยางล้อรถมักจะไม่ค่อยเสมอกัน และเมื่อสลับล้อแล้วจะต้องมีการตั้งศูนย์ล้อใหม่เพื่อความสมดุล และนี่เองคือเรื่องที่ควรศึกษาต่อไป นั่นก็คือ การตั้งมุมศูนย์ล้อรถ ซึ่งมีด้วยกันหลายมุมที่ต้องใส่ใจ ลองมาดูกันว่า มีอะไรบ้าง ถือเป็นความรู้รอบ ไม่เสียหายอะไร
มุมแคมเบอร์ (CAMBER)
เวลามองจากด้านหน้า เราจะเห็นมุมล้อหน้าของรถส่วนบน ไม่เอียงออกก็เอียงเข้า มุมนี้แหละที่เราเรียกว่า “มุมแคมเบอร์” ซึ่งมีทั้งบวกและลบ โดยยึดแนวทำมุมเอียงออกจากแนวตั้ง ดังนี้ ถ้าทำมุมเอียงออกด้านนอกเรียก “มุมแคมเบอร์บวก” ถ้าทำมุมเอียงเข้าด้านใน เรียกว่า “มุมแคมเบอร์ลบ”
มุมแคสเตอร์ (CASTER)
เส้นผ่าศูนย์กลางของแนวแกนบังคับเลี้ยว มุมแคสเตอร์เป็นมุมที่เกิดจากเส้นที่ลากเป็นแนวตั้งฉากกับพื้นกับเส้นแกนบังคับเลี้ยว คือ เมื่อมองจากด้านข้างตัวรถ มุมแคสเตอร์ จะเป็นมุมของแกนหมุนเลี้ยว ถ้าแกนหมุนเลี้ยวส่วนบน เอียงออกทางด้านหลังจากเส้นแนวตั้งฉาก เรียกว่ามุมแคสเตอร์บวก ถ้าเอียงออกไปทางด้านหน้า เรียกว่า มุมแคสเตอร์ลบ โดยทั่วไป หากต้องการความปลอดภัยในการขับ ต้องตั้งศูนย์ถ่วงล้อให้มีมุมแคสเตอร์บวก เพราะมุมแคสเตอร์บวกนี้จะช่วยทำให้พวงมาลัยหมุนคืนกลับมาสู่ตำแหน่งทางตรงได้เอง เมื่อมีการเลี้ยว ซึ่งต่างกับการตั้งมุมแคสเตอร์ลบ เวลาเลี้ยวแล้วจะต้องใช้แรงในการหมุนเลี้ยวพวงมาลัย
มุมโท (โทอินและโทเอาท์) (TOE) มุมโท จะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ มุมโทอิน และมุมโทเอาท์
- มุมโทอิน (Toe-in) คือ ระยะของยางล้อที่หันเข้าหากัน ถ้ามองจากด้านบนของล้อ หน้ายางเอียงเข้าหากันมากกว่าด้านหลัง เรียกมุมโทอินบวก ถ้าด้านหลังมากกว่าด้านหน้า เรียก โทอินลบ
ประโยชน์ของมุมโทอิน จะช่วยทำให้ล้อไม่สั่น เคลื่อนที่ไปอย่างมั่นคง เนื่องจากความต้านทางกลิ้งและลูกหมากคันส่งไม่หลวม
- มุมโทเอาท์ (Toe-out) คือ ระยะของล้อยางจะเอียงออกด้านนอก ช่วยในเรื่องการหมุนของล้อ
การตั้งศูนย์ล้อจึงประสานกันระหว่างมุมโท กับมุมแคมเบอร์ ความสมดุลจะช่วยให้จุดศูนย์กลางการหมุนเลี้ยว เป็นไปด้วยดี ช่วยให้ล้อยางไม่สึกหรอเร็วเกินไป อีกทั้งเวลาเลี้ยวจะไม่มีเสียดังด้วย
มุมเอียงแกนบังคับเลี้ยว (คิงพิน) (KPI)
แกนบังคับเลี้ยว คือ แกนรอบขณะล้อหมุนหันซ้ายหรือหันขวา แนวของแกนนี้ เกิดจากการลากเส้น จากช่วงบนของโช๊คอัพ และ ลูกหมากปีกนกตัวล่าง จะได้เส้นเอียงเข้าด้านใน การทำมุมเอียงนี้ เรียกว่ามุมเอียงแกนบังคับเลี้ยว (มุมคิงพิน) และเรียกเส้นแบ่งกึ่งกลางของแกนบังคับเลี้ยวกับเส้นแนวกลางล้อที่พื้น ว่า ระยะเยื้องศูนย์ ระยะเยื้องศูนย์นี้ หากน้อย จะมีผลคือช่วยลดแรงหมุนพวงมาลัย และแรงสั่นสะเทือนในการเบรค มุมเอียงแกนบังคับเลี้ยว เป็นอีกมุมหนึ่งที่ช่วยให้พวงมาลัยหมุนคืนตำแหน่งตรงได้ดี โดยไม่ต้องใช้แรงหมุน
มุมเลี้ยว
ในเรื่องของมุมเลี้ยว ถ้าจะให้การเลี้ยวโค้งของรถเป็นไปอย่างราบรื่น จะต้องตั้งศูนย์ล้อด้านหน้าทั้งซ้ายและขวาให้มีมุมเท่ากัน คือ มีรัศมีวงเลี้ยวเท่ากัน จะได้กะและบังคับรถให้เลี้ยวได้อย่างที่ต้องการ
การตั้งศูนย์ล้อรถยนต์ เป็นเรื่องที่สำคัญหลังจากใช้รถยนต์ไประยะหนึ่ง และต้องมีการสลับล้อแต่ละข้างแล้ว เพราะมุมล้อแต่ละมุม ล้วนมีผลต่อการขับเคลื่อน การบังคับพวงมาลัย การเลี้ยว การตีโค้ง ศูนย์ถ่วงของรถ เพื่อความปลอดภัยจึงต้องสังเกตเวลาขับรถและการเลี้ยวด้วย เมื่อพบว่าผิดปกติต้องนำรถเข้าศูนย์เพื่อตรวจสอบและตั้งศูนย์ใหม่